8.3.56

ลดความรุนแรง จากความเครียด

ในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งความ เร่งรีบ สับสน และเป็นสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การดำเนินชีวิตของคนเราต้องเร่งรีบ แข่งขัน และเผชิญกับความตึงเครียดจากเหตุการณ์ต่างๆ
อยู่เสมอ

การพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ และสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความเครียดรวมถึงการเลือกแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับความเครียด เช่น หาก เรารู้ตัวว่าเรากำลังโกรธ เราอาจหาทางระบายความโกรธด้วยการเล่นกีฬาที่ใช้กำลัง  เช่น เตะฟุตบอล ตีแบดฯ ตีปิงปอง หรือทำงานที่ต้องใช้แรง เช่น ขุดดิน ทำสวนเป็นต้น หรือหาหนทางยืดระยะเวลาการแสดงอารมณ์ เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ นับหนึ่งถึงสิบ หรือพยายามขอตัวออกจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่เพื่อไปสงบสติอารมณ์และพักสักครู่

สิ่งเหล่านี้เป็นหนทางที่ช่วยให้เราสามารถจัดการกับสถานการณ์ตึงเครียด ที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยลดความรุนแรงจากสถานการณ์ที่เผชิญได้อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดย: นฤภัค ฤธาทิพย์ กรมสุขภาพจิต [15 มีนาคม 2555] 

นั่งเก้าอี้อย่างไรไม่ปวดหลัง
วัยเรียนที่ต้องนั่งเก้าอี้ ทบทวนหนังสือ หาข้อมูล ทำการบ้าน หรือ พิมพ์รายงานผ่านคอมพิวเตอร์นาน ๆ หลายคนมักรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณเอว หลัง และต้นคอ สร้างความหงุดหงิดใจให้บ่อยครั้ง รู้หรือไม่? ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจาก การนั่งเก้าอี้ที่ไม่ถูกต้อง

วิธีบรรเทาทำได้ เพียงพิจารณาเบาะเก้าอี้ ควรมีขนาดพอดี นั่งแล้วไม่อึดอัด หากเบาะใหญ่เกินไปควรหาหมอนมาหนุนหลัง จากนั้น นั่งให้เต็มก้น หลังพิงพนัก ช่วยลดอาการปวดคอ คอเกร็ง ส่วนเท้าวางราบสัมผัสพื้น

สำหรับที่พักแขน ตรวจดูความแข็งแรงให้เหมาะสมสำหรับค้ำยันตัวขณะลุก และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกะกะเวลาพิมพ์งาน นอกจากนี้ ข้อศอกควรวางอยู่ระดับเดียวกับพื้นโต๊ะ ป้องกันช่วงไหล่เกิดอาการเกร็ง
กรณีโต๊ะต่ำกว่าเก้าอี้ เมื่ออ่านหนังสือควรหาอุปกรณ์มาเสริมให้หนังสือวางสูงระดับหน้าอก ป้องกันกล้ามเนื้อคอทำงานหนักจนเกิดอาการตึง และส่งผลให้ปวดหลัง อันเกิดจากการก้มโน้มตัวอ่านหนังสือมากเกินไป

ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อยืดเส้นยืดสายให้เส้นเอ็นคลายตัว แต่เลี่ยงการก้ม หรือ เอี่ยวหลังแรง ๆ เพราะจะทำให้เจ็บกล้ามเนื้อได้
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์   โดย: ปลายทาง    [17 กุมภาพันธ์ 2555]  





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น